วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

empowerment 1


การเสริมสร้างพลังอำนาจครู




การเสริมสร้างพลังอำนาจครูที่ลำปลายมาศพัฒนา

ประวิต  เอราวรรณ์

จากการเยี่ยมศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาในหลายๆครั้งที่ผ่านมา ผมพยายามอธิบายกระบวนการพัฒนาครูที่โรงเรียนพยายามดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยกรอบแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจครู หรือ Teacher Empowerment ได้ดังนี้

บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในองค์การคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการเสริมสร้างพลังอำนาจ ดังนั้นองค์การที่เป็นโรงเรียน กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเสริมสร้างพลังอำนาจก็คือ ครู เพราะครูคือผู้ที่ต้องเข้าถึงนโยบายและความต้องการของโรงเรียน เป็นผู้ที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม ต้องเชื่อมโยงความคิดรวบยอดต่าง ๆ จากหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาผู้เรียน และที่สำคัญคือครูทุกคนจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจ เพื่อให้ครูมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็น ครูมืออาชีพที่แสดงบทบาททั้งในและนอกโรงเรียนนั่นคือ

ครูต้องมีความรับผิดชอบสูง มีทักษะการสอนที่ดี มีความยืดหยุ่น ทำงานอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และเป็นที่พึ่งหวังของนักเรียน

             การเสริมสร้างพลังอำนาจนั้นเป็นทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ ดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาวะปกติของโรงเรียน โดยใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ใหม่ที่ส่งผลต่อความเชื่อ ค่านิยม และเจตคติภายในองค์การให้ดีขึ้น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ทันสมัยและเอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพต่างๆ เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานทั้งในระดับโรงเรียน ระดับทีมงาน และค่านิยมหรือพฤติกรรมการปฏิบัติงานของครูแต่ละคน รวมถึงการมีกิจกรรมร่วมกันในเชิงองค์การที่เป็นชมรม สมาคม สหภาพครูหรือเครือข่ายอื่นๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน (Zimmerman, 2000)

การเสริมสร้างพลังอำนาจครูในโรงเรียนนั้น Blase และ Blasé (1994) เสนอว่าต้องดำเนินการให้ครอบคลุมในสิ่งต่างๆ คือ การมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนของครู ความเชื่อถือต่อตัวครูของโรงเรียนและพัฒนาเงื่อนไขการทำงานของครู ระบบเงินเดือนและโครงสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เหมาะสม การปฏิรูปให้มีระบบการควบคุมวิชาชีพครู และการที่ครูมีอิสระทางวิชาการและมีความเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการของโรงเรียนในการตั้งเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์และวางแผนในลักษณะบูรณาการเชื่อมโยงกับการปฏิบัติ คุณลักษณะ เจตคติ และความสามารถของครูแต่ละบุคคลให้เข้ากับกลุ่มหรือทีมงาน และให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพการณ์ของโรงเรียน เพื่อทำให้ครูเกิดความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงาน มีความยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียน และลงมือปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผลลัพธ์ของงานอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามเป้าหมายในระดับที่โรงเรียนต้องการ

องค์ประกอบและตัวบ่งชี้การเสริมสร้างพลังอำนาจครู Blase และ Blasé (1994) เสนอว่ากระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจครูนั้นโรงเรียนต้องดำเนินการในองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1)      เชื่อมั่นและให้ความไว้วางใจในความเชี่ยวชาญของครู
2)
      จัดโครงสร้างและระบบในโรงเรียนเพื่อช่วยให้ครูทำงานได้ดีที่สุด
3)
      สนับสนุนทรัพยากรในการทำงานและพัฒนาทีมงาน
4)
      สนับสนุนให้ครูมีอิสระทางวิชาการและคิดค้นนวัตกรรมในการทำงาน
5)
      จัดรูปแบบความสัมพันธ์และสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้ครูมีส่วนร่วม
6)
      ลดพฤติกรรมทางลบ และขจัดความเสี่ยงหรืออุปสรรคต่างๆ
7)
      สร้างค่านิยมในการทำงานที่ดีและให้รางวัล
8)
      ให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการแก้ปัญหา
9)
      ให้ครูแสดงบทบาทและมีภาวะผู้นำ

นอกจากนี้ Klecker และ Loadman (1998) ได้สรุปผลการศึกษากระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจครูที่ดำเนินการในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โดยเสนอว่ามิติการเสริมสร้างพลังอำนาจครูตามทฤษฎีนั้นมี 6 มิติ ดังนี้

(1) ความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งเกิดจากการที่โรงเรียนให้โอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพ มีโอกาสที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายความรู้และทักษะต่างๆ ไปพร้อมๆ กับวิถีการทำงานในโรงเรียน
(2) การรับรู้ความสามารถของตนเอง เกิดจากการที่ครูรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยนักเรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
(3) สถานภาพในการทำงาน เกิดจากการที่ครูได้รับความเคารพนับถือในบทบาทครู การยกย่องยอมรับจากเพื่อนครู และความไว้วางใจในความรู้ความเชี่ยวชาญจากโรงเรียน
(4) ผลกระทบจากงาน เกิดจากการที่ครูรับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากข้อมูลย้อนกลับ และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ทำงานได้ประสบผลสำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตการทำงานในโรงเรียน
(5) การตัดสินใจ เกิดจากการที่ครูมีโอกาสตัดสินใจในงาน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณ การคัดเลือกครู การกำหนดตารางสอน การใช้หลักสูตรของโรงเรียน และอื่นๆ
(6) อิสระในการทำงาน เกิดจากการที่ครูมีอิสระในการตัดสินใจและสามารถควบคุมวิถีชีวิตการทำงานของตนเองในการจัดตารางสอน การใช้หลักสูตร หนังสือเรียน รวมทั้งวางแผนการสอน และเรื่องต่างๆ ที่เป็นหน้าที่ของครู

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ ประวิต  เอราวรรณ์ (2548) ที่ได้ศึกษากระบวนการ OD ในโรงเรียนโดยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในบริบทของประเทศไทย พบว่ามีความแตกต่างจากต่างประเทศทั้งในส่วนของสิ่งแวดล้อม สถานภาพโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของชุมชนพบว่า กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจครูนั้นต้องดำเนินการใน 6 องค์ประกอบดังตาราง 1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตาราง 1 องค์ประกอบและตัวบ่งชี้วิธีการและผลลัพธ์ของการเสริมสร้างพลังอำนาจครู

 
องค์ประกอบ
ระดับ
บุคคล
ทีมงาน
โรงเรียน
1.ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร
วิธีการ
1) ให้ข้อมูลย้อนกลับ2) ให้อำนาจควบคุมและการตัดสินใจ 3) ให้อิสระในการทำงาน
จัดทีมทำงาน
1) กระจายอำนาจ2) ให้มีส่วนร่วม
ผลลัพธ์
1) ปรับปรุงงานต่อเนื่อง2) รับผิดชอบในงาน3) รับรู้ความสามารถตน
มีการทำงานเป็นทีม 
1) รู้สึกเป็นเจ้าของงาน2) ยึดมั่นผูกพันกับโรงเรียน
2.ปรับปรุงระบบการทำงานใน  โรงเรียน
วิธีการ
มอบบทบาทหน้าที่
จัดระบบการทำงานของทีมต่างๆ
1) กำหนดมาตรฐาน การทำงาน2) วางระบบต่างๆ
ผลลัพธ์
ปฏิบัติงานได้ถูกต้อง
ทีมทำงานมีประสิทธิภาพ
1) ผลลัพธ์มีมาตรฐาน2) การปฏิบัติคล่องตัว
3.ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือใน  โรงเรียน
วิธีการ
สร้างความเป็นผู้นำ
แลกเปลี่ยนข้อมูลภายในทีมและระหว่างทีม
จัดระบบและช่องทางการติดต่อสื่อสารทั่วถึง
ผลลัพธ์
มีภาวะผู้นำในงาน
มีความร่วมมือระหว่างบุคคลและทีมงาน
สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และชัดเจน
4.สร้างบรรยากาศการทำงานในโรงเรียน
วิธีการ
ให้โอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่
ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน
ให้ความเสมอภาค
ผลลัพธ์
เกิดความรู้และทักษะใหม่ๆ
เกิดนวัตกรรมในการทำงาน
มีบรรยากาศประชาธิปไตย
5.สร้าง         แรงจูงใจในการทำงาน
วิธีการ
1) จัดสวัสดิการที่จำเป็น2) ให้รางวัลและชมเชย
ฝึกอบรมและพัฒนาทีม
1) สนับสนุนทรัพยากร2) จัดสิ่งแวดล้อมที่ดี
ผลลัพธ์
1) รู้สึกมั่นคงในชีวิต2) มุ่งมั่นในการทำงาน
ทีมงานมีความเชี่ยวชาญ
1) ความพึงพอใจในงาน2) สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการทำงาน
6.สร้าง   วัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน
วิธีการ
1) ให้การยกย่องยอมรับ2) ให้ความไว้วางใจ
เคารพต่อการตัดสินใจของทีม
ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม
ผลลัพธ์
1) มีความภูมิใจในตนเอง2) มีความมั่นใจ
ร่วมรับผิดชอบต่อผลลัพธ์
ยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นร่วมกัน

นอกจากการดำเนินการตามองค์ประกอบดังที่กล่าวมาแล้ว การเสริมสร้างพลังอำนาจครูนั้นยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไของค์การของโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการ OD ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียน 3 ประการดังนี้

1) ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีลักษณะเป็นนักประชาธิปไตย มีวิสัยทัศน์ บริหารงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมของครู มีภาวะผู้นำในการปรับปรุงพัฒนาและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นในการบริหารและรู้จักใช้กลยุทธ์ในการพลิกภาวะปัญหาที่รุมเร้าไปเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์การได้

2) ระบบการสนับสนุนจากภายนอก เป็นการสนับสนุนทั้งแง่การให้ความร่วมมือในกิจกรรมของโรงเรียนและการสนับสนุนทรัพยากรจากหน่วยงานภายนอกและชุมชน หากโรงเรียนได้รับการสนับสนุนที่ดีก็จะเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การทำ OD ในโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จได้

3) ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน หากโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและเปิดช่องทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และเป้าหมายของโรงเรียนตั้งแต่ต้นก็จะสนับสนุนให้กระบวนการ OD ในโรงเรียนมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนด้วย

หากเราจะวิเคราะห์ภาพการพัฒนาครูของลำปลายมาศพัฒนาก็จะพบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อโรงเรียนก็คือการเสริมสร้างพลังอำนาจครู และเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เข้าไปในกระบวนการ ได้แก่ อิสระในการทำงานของครูให้สามารถคิดและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างสมัครใจ การมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การมีส่วนร่วมในการควบคุมสิ่งที่มีผลต่อครูและในงานที่ครูรับผิดชอบ บรรยากาศในการทำงาน การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ครู การสร้างทีมและการทำงานเป็นทีม การให้ข้อมูลย้อนกลับที่มีประโยชน์ ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การยอมรับจากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน  ขวัญกำลังใจจากผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน  โอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ การให้เกียรติและไว้วางใจในบทบาทและการทำงาน รวมถึงผู้บริหารและครูร่วมกันยอมรับความผิดพลาดหากเกิดขึ้นจากหน้าที่รับผิดชอบ

 

เอกสารอ้างอิง

ประวิต  เอราวรรณ์. (2548). การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในโรงเรียน:

กรณีศึกษาโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 24(3), 43-54.

Blasé, J., & Blasé, J. R. (1994). Empowering teachers what successful principals do.

 Thousand Oaks, CA: Corwin Press.

Duffy, G. G. (1992). Let’s free teachers to be inspired. Phi delta Kappa, 73(16),

442-447.

Klecker, B. M., & Loadman, W. E. (1998, November). Empowering elementary teachers

in restructuring schools: Dimensions to guide the mission. Paper presented at the annual meeting of the Mid-South Educational Research Association,

New Orleans.

Short, P. M., Greer, J. T., & Melvin, W. M. (1994). Creating empowered schools:

lessons in change. Journal of Educational Administration, 32(4), 38-52.

Zimmerman, M. A. (2000). Empowerment theory: handbook of community psychology.

New York: Academic/Plenum Publishers.

 

http://www.cres.in.th/wp-content/uploads/2012/11/111.png 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น